วันพฤหัสบดีที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2559

มข. สร้างเสื้อเกราะรังไหมกันกระสุน ครั้งแรกของโลก



        

            
เมื่อวันจันทร์ที่ 31 สิงหาคม 2558 เวลา 10.00 น. มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดงานนักวิจัย มข. พบสื่อมวลชน ประจำเดือนสิงหาคม นำโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ดร.รัชฎา ตั้งวงค์ไชย ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายการถ่ายทอดเทคโนโลยี และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พนมกร ขวาของ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และคณะทำงานร่วมกันแถลงข่าวงานวิจัยเรื่อง"โครงการวิจัยนวัตกรรมการพัฒนารังไหมใช้เป็นเกราะกันกระสุน” ทั้งนี้มีสื่อมวลชนสนใจเข้าร่วมงานจำนวนมาก ณ ห้องประชุมสิริคุณากร 4 อาคารสิริคุณากร มหาวิทยาลัยขอนแก่น
โครงการวิจัยนวัตกรรมการพัฒนารังไหมใช้เป็นเกราะกันกระสุน ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก เหตุการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่งผลให้ตำรวจ ทหาร รวมถึงเจ้าหน้าที่ ได้รับอันตรายจำนวนมาก ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงร่วมกับอาจารย์สุธา ลอยเดือนฉาย และกลุ่มหัตถกรรมผ้าของฝากภูเวียง จังหวัดของแก่น พัฒนารังไหมให้เป็นเสื้อเกราะกันกระสุน โดยมีจุดเด่นคือเสื้อเกราะรังไหมกันกระสุนมีความยืดหยุ่น ป้องกันการยิงซ้ำ ต้านทานแรงกระแทก น้ำหนักเบา ราคาถูกกว่าเกราะกันกระสุนทั่วไปกว่า 2.5 เท่า
ผศ.พนมกร ขวาของ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นเปิดเผยว่า รังไหมที่นำมาใช้ ใช้รังไหมที่ยังไม่ผ่านการสาวไหม หรือผ่านการสาวไหมแล้วแต่ต้องเหลือใยไหม ขั้นตอนการสร้าง นำรังไหมมาวางในแม่พิมพ์ เทเรซินชนิดพิเศษลงบนรังไหมเพื่อให้รังไหมยึดเกราะกัน อัดด้วยเครื่องไฮโดรลิค บ่มเป็นเวลา 8 ชั่วโมง เสื้อเกราะไหมกันกระสุนมีความหนาประมาณ 14-20 มิลลิเมตร และน้ำหนักโดยรวมอยู่ที่ 2.5- 4 กิโลกรัม (ขึ้นอยู่กับชนิดกระสุนและความเร็วของกระสุน) เนื่องจากคุณสมบัติของรังไหมที่มีความแข็งแรงสูงมากกว่า 4.8 จิกะปาสคาล ขึ้นไป (แต่ความแข็งแรงของเส้นไหมขณะเปียกจะลดลงร้อยละ 15-20 ของเส้นไหมแห้ง) และเส้นไหมสามารถยืดหยุ่นได้ดี สามารถยืดหยุ่นได้ตั้งแต่ร้อยละ 35 และพบว่าเส้นไหมสามารถหดตัวกลับคืนได้ถึงร้อยละ 92
จากคุณสมบัติดังกล่าวพบว่าเส้นไหมมีคุณสมบัติคล้ายคลึงกับเส้นใยเหล็ก ดังนั้นจึงนำรังไหมมาทำเป็นอุปกรณ์ป้องกันกระสุนปืน เมื่อผลิตเสื้อเกราะจากรังไหมสำเร็จ ทีมนักวิจัยจึงนำมาทดสอบกับกระสุนจริง จากการทดสอบการยิง พบว่าการทดสอบช่วงแรกพบว่า สามารถสามารถป้องกันการยิงของปืนสั้น .22 ได้ในระยะการยิง 3 เมตร เป็นการป้องกันในระดับ 1 ตามมาตรฐานของ National Institute of Justice (NIJ) นอกจากนี้เสื้อเกราะรังไหมกันกระสุนยังมีคุณสมบัติเด่น คือความยืดหยุ่นตัวสูงสามารถดูดหัวกระสุนไว้ในเกราะไม่ทำให้เกิดการแฉลบสู่บุคคลข้างเคียง สามารถต้านทางแรงกระแทกได้ดี ไม่ทำให้เกราะแตก ที่ทำให้เกิดการบอบช้ำภายในของร่างกายผู้สวมใส่จากการยุบตัวของเกราะตามแรงของกระสุน สามารถป้องกันการยิงซ้ำจากการคงรูปของเกราะที่ไม่ทำให้เกิดการเสียสภาพภายหลังการถูกยิง มีน้ำหนักเบา ราคาถูกกว่าเกราะกันกระสุนทั่วไปราว 2.5 เท่า
เมื่อมีการพัฒนาต่อเนื่องในระยะเวลา 2 ปี โดยการทำเกราะให้หนาขึ้น และมีเส้นใยพิเศษที่เสริมเข้าไป ทำให้สามารถต้านทานความเร็วของกระสุนปืนที่สูงขึ้น ผลคือสามารถทำให้เกราะมีความสามารถในการป้องกันการยิงในระดับ 3A ตามมาตรฐาน NIJ (ขนาดหัวกระสุน 9 มม. ความเร็ว 426 เมตรต่อวินาที) ทั้งนี้เสื้อเกราะไหมกันกระสุน สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศ จากการประกวดโครงการพัฒนาภูมิปัญญาสู่นวัตกรรม ภาคอีสานตอนบน ที่จัดโดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้เป็นตัวแทนของภาคไปประกวดระดับประเทศ ซึ่งมีขึ้นในวันที่ 20 – 21 กรกฎาคม 2558 นี้
ปัจจุบันทีมผู้วิจัย ได้จดสิทธิบัตรเสื้อเกราะไหมกันกระสุนเป็นทรัพย์สินทางปัญญาของมหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ทีมผู้วิจัยกำลังพัฒนาความหนาและน้ำหนักของเสื้อเกราะไหมกันกระสุนให้บางและเบาขึ้น ที่สามารถป้องกันกระสุนปืนในระดับ 3 ตามมาตรฐาน NIJ (ป้องกันกระสุนปืน M 16 ความเร็ว 838 เมตรต่อวินาที)เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการรักษาความปลอดภัยแก่สังคมต่อไป


ที่มา https://www.kku.ac.th/news/v.php?q=0010240&l=th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น